สิทธิการรับทราบข้อมูลข่าวสาร

1. กฎหมายกำหนดให้สิทธิอะไรบ้างแก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ

พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้กำหนดสิทธิสำคัญ ๆ แก่ประชาชนดังนี้

1. สิทธิ “ได้รู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ” พระราชบัญญัติได้รองรับสิทธิไว้ในมาตรา 7 มาตรา 9 มาตรา 11 และมาตรา 26
2. สิทธิ  “คัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารกรณีมีส่วนได้เสีย”  ตามมาตรา 17
3. สิทธิ  “ร้องเรียนหน่วยงานของรัฐ”  ตามมาตรา 13
4. สิทธิ  “อุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ”  ตามมาตรา 18 และมาตรา 25
5. สิทธิ  “อุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ”  ตามมาตรา 18 และมาตรา 25

2. หากประชาชนไม่รู้ว่าหน่วยงานของรัฐแห่งใด  เป็นผู้จัดเก็บหรือครอบครองข้อมูลข่าวสารที่ต้องการดู  ประชาชนจะทำอย่างไร

ในกรณีที่ประชาชนต้องการทราบข้อมูลข่าวสารของราชการเรื่องหนึ่ง เรื่องใด ให้ศึกษาและพิจารณาก่อนว่าข้อมูลข่าวสารที่ต้องการทราบนั้นเกี่ยวข้อง และอยู่ในความดูแลของหน่วยงานของรัฐแห่งใด แต่ในกรณีที่ไม่ทราบจริงๆ ว่า หน่วยงานของรัฐแห่งใดเป็นผู้ครอบครองข้อมูลข่าวสารนั้น ให้ไปยื่นคำขอดูข้อมูลข่าวสารที่ต้องการ ณ หน่วยงานของรัฐที่อยู่ใกล้และสะดวกที่สุด โดยกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับคำขอจะต้องให้คำแนะนำที่ถูกต้อง เพื่อไปยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐที่ควบคุมข้อมูลข่าวสารนั้นโดยไม่ชักช้า

3. หากหน่วยงานของรัฐไม่พิจารณาคำขอข้อมูลข่าวสาร ประชาชนจะทำอย่างไร

ในกรณีที่ประชาชนได้ไปใช้สิทธิขอดูข้อมูลข่าวสารที่ต้องการจากหน่วยงานของรัฐแห่งใดแล้ว   หน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ยังทำเพิกเฉยไม่พิจารณาคำขอในเวลาอันสมควร ประชาชนควรปฏิบัติดังนี้
          1. ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ โดยทำหนังสือหรือโดยวาจา ขอทราบผลการพิจารณาโดยยกสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ขึ้นอ้าง และให้เวลาพอสมควรในการพิจารณาแก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ
          2. ติดตามทวงถามผลการพิจารณา เมื่อครบกำหนดเวลาอันสมควรตามข้อ 1 หากพบว่าเป็นปัญหาระดับเจ้าหน้าที่ให้ขอพบผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น เพื่อเร่งรัดการพิจารณา และแก้ไขปัญหาในระดับหน่วยงาน
          3. หากดำเนินกิจการตาม 1  และ 2 ยังไม่บังเกิดผลให้ใช้สิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยทำเป็นหนังสือถึง

4. หากประชาชนทราบว่า ตนเองมีส่วนได้เสียในข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีผู้อื่นมาขอใช้สิทธิตรวจดูข้อมูลข่าวสารนั้น  จะทำอย่างไรเพื่อมิให้การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น

ไม่ว่ากรณีใด ๆ หากผู้ใดทราบว่าการที่หน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารใด อันกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของตนเอง ก็อาจยื่นคำคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่เสียก่อน ในการนี้เจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาคำขอของผู้ขอดูข้อมูลและคำคัดค้านของผู้ที่มีส่วนได้เสียประกอบกัน ถ้าเจ้าหน้าที่มีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน ผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง (มาตรา 18) ในการนี้เจ้าหน้าที่จะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นยังมิได้ จนกว่าจะล่วงพ้นระยะเวลาให้อุทธรณ์ได้ ดังกล่าวเพื่อจะได้ทราบว่าผู้นั้นได้ยื่นอุทธรณ์หรือไม่ และหากมีการยื่นอุทธรณ์ก็จะยังเปิดเผยไม่ได้ จนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (มาตรา 17 วรรคสาม)

5. สิทธิในการขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารของราชการ ประชาชนผู้ขอจำเป็นต้องมีส่วนได้เสียในข้อมูลข่าวสารนั้นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด

บุคคลไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องหรือไม่ ย่อมมีสิทธิเข้าตรวจดูข้อมูลข่าวสารของทางราชการนี้อย่างไรก็ตาม สิทธิได้รู้นี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของการจัดการปกครองในรัฐ สิทธินี้จึงเป็นของคนไทยโดยเฉพาะสำหรับคนต่างด้าวหากจะมีก็จะอยู่ในเรื่องการปกป้องสิทธิของตนเท่านั้น มาตรา 9 วรรคสี่ซึ่งวางหลักว่า คนต่างด้าวจะมีสิทธิเข้าตรวจดูข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 9 ได้หรือไม่ เพียงใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่คนต่างด้าวนี้ไม่รวมถึงผู้ไม่มีสัญชาติไทยแต่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ (มาตรา 4  นิยามคำว่า “คนต่างด้าว”) เพราะกรณีนั้นผู้นั้นมีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทยแล้ว สมควรมีสิทธิอย่างคนไทยในเรื่องข้อมูลข่าวสารของราชการได้

6.  ประชาชนจะใช้สิทธิร้องเรียนหน่วยงานของรัฐได้ในกรณีใดบ้าง

ประชาชนสามารถใช้สิทธิร้องเรียนได้ต่อเมื่อเห็นว่าหน่วยงานของรัฐมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในกรณีต่าง ๆ  ดังต่อไปนี้

1. กรณีไม่นำข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 7 ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา
2. กรณีไม่จัดข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 9 ให้ประชาชนตรวจดูได้
3. กรณีไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 9 ให้ประชาชนตรวจดูได้
4. กรณีไม่ให้คำแนะนำที่ถูกต้องหรือไม่ส่งคำขอให้หน่วยงานผู้จัดทำข้อมูลข่าวสารพิจารณาตามมาตรา 12
5. กรณีไม่แจ้งให้ผู้มีประโยชน์ได้เสียเสนอคำคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา 17
6. กรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการจัดระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ตามมาตรา 23
7. กรณีเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลโดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลตามมาตรา 24
8. กรณีกระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลโดยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 25 (ยกเว้นเป็นกรณีตามมาตรา 25 วรรคสี่)
9. กรณีไม่ส่งมอบข้อมูลข่าวสารประวัติศาสตร์ให้กับหอจดหมายเหตุเพื่อคัดเลือกไว้ให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้า ตามมาตรา 26
10. กรณีหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า  หรือไม่ให้บริการข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 13
11. กรณีไม่ได้รับความสะดวกในการใช้สิทธิรู้ข้อมูลข่าวสารโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามมาตรา 13
12. กรณีหน่วยงานของรัฐปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูลข่าวสารตามที่ร้องขอและผู้ร้องขอไม่เชื่อว่าเป็นความจริง  (มาตรา  33)

7.  ประชาชนจะร้องเรียนหน่วยงานของรัฐได้อย่างไร และร้องเรียนกับใคร

ประชาชนมีสิทธิยื่นคำร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
กฎหมายไม่ได้ระบุว่าให้ร้องเรียนด้วยวิธีใด ประชาชนอาจไปร้องเรียนด้วยตนเอง ณ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยให้เจ้าหน้าที่จดบันทึกไว้ให้หรือส่งทางไปรษณีย์ ถึงประธานกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือร้องเรียนด้วยวิธีการอื่น

การเขียนคำขอข้อมูลข่าวสารของราชการ
ประชาชนจะใช้สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการได้ โดยต้องยื่นคำขอ แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าคำขอนั้นต้องเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ตาม การเขียนคำขอก็เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด และทำให้มีหลักฐานชัดเจนทั้งผู้ขอและส่วนราชการ ในกรณีที่ต้องการเขียนคำขอควรเขียนให้ถูกต้องครบถ้วนในรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ขอข้อมูล และรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลที่ขอให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น การขอดูเอกสารสัญญาขององค์การบริหารส่วนตำบล ควรระบุว่าสัญญาเรื่องอะไร ทำสัญญาเมื่อวันที่เท่าใด หรือการขอรายงานการประชุมของ อบต. ควรเขียนให้ชัดเจนว่าเป็นรายงานการประชุมเกี่ยวกับเรื่องอะไร หรือเป็นการประชุมของกรรมการชุดใด และเป็นการประชุมครั้งที่เท่าใด เป็นต้น

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม