กลุ่มงานวิชาการ  
 
หน้าที่ความรับผิดชอบ
การแบ่งงาน
หน่วยงานในสังกัด
ฐานข้อมูลห้องสมุด
ฐานข้อมูลงานวิจัย
ผลงานทางวิชาการ
 
   

    ชื่อสามัญ : สะเดาเทียม

    ชื่ออื่น : สะเดาช้าง (ตรัง)

    ชื่อพฤกษศาสตร์ : Azadirachta exelsa (Jack) Jacobs

    ชื่อวงศ์ : MELIACEAE

     
  ลักษณะทั่วไป
     
          เป็นไม้ขนาดกลาง-ขนาดใหญ่ สูง ๓๐-๕๐ เมตร เส้นรอบวงอาจโตถึง ๔๐๐ เซนติเมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกนอกเรียบสีเทาอ่อน มีสีเขียวเป็นดวงๆเกิดขึ้น เมื่อแก่เปลือกแตกร่อนเป็นเกร็ดตามยาว ลำต้นมีสีน้ำตาลเทา เปลือกในสีชมพู หรือออกส้มๆ โคนเป็นพูพอนเล็กน้อย เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างโปร่ง มีกิ่งก้านน้อย การแตกกิ่งของไม้สะเดาเทียมแตกเป็นช่อไม่มีระเบียบ ไม่มีรูปทรงที่แน่นอน
     
          ใบ เป็นแบบใบประกอบยาวประมาณ ๘๐ เซนติเมตร ประกอบด้วยใบย่อย ๗-๑๑ คู่ ขนาดใบย่อยยาว ๒.๕- ๑๒.๕ เซนติเมตร มีลักษณะเรียงยาวปลายแหลม ใบอ่อนสีชมพูถึงน้ำตาลแดง เมื่อแก่มีสีเขียวเป็นมัน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เป็นไม้ผลัดใบ ผลัดใบแล้วผลิใบก่อนออกดอก ซึ่งตรงข้ามกับสะเดาไทยที่แทงช่อดอกก่อนจึงผลิใบอ่อนตาม ใบอ่อนและดอกใช้รับประทานเป็นอาหารได้ทั้งสดและลวกหรือเผา มีรสขมโดยแกล้มกับน้ำพริก น้ำปลาหวาน ฯลฯ เช่นเดียวกับสะเดาไทย
     

          ดอก มีสีขาวอมเขียว กลิ่นหอมอ่อนๆ เป็นช่อตามง่ามใบ ออกดอกเดือนมีนาคม

          ผล เป็นผลเดี่ยวเมื่ออ่อนมีผิวเปลือกสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อแก่ เปลือกแข็งเนื้อในนุ่มสีขาว เมล็ดเดี่ยว ผลกลมรี มีขนาด ๒.๕-๓.๕ เซนติเมตร ผลแก่ราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ผลรับประทานได้ มีกลิ่นแรง

          เมล็ด เป็นเมล็ดเดี่ยว เปลือกเมล็ดสีเทา เมล็ดกลมรี มีสารที่เรียกว่า Azadirachtin อยู่ประมาณ ๓.๓-๓.๕ มิลลิกรัมต่อเนื้อเมล็ด ๑ กรัม สารนี้ทำให้แมลงศัตรูพืชได้รับแล้วกินอาหารน้อยลง การเจริญเติบโตน้อยลง ลดความสามารถในการวางไข่และฟักไข่

     
  ที่มา
     

                  ธงชัย เปาอินทร์.๒๕๓๖.ไม้สะเดาเทียม.บพิธการพิมพ์.๑๒๐ หน้า.

                  เต็ม สมิตินันท์. ๒๕๔๔. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. บริษัทประชาชน จำกัด.