banner
 
   
   อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ     ลักษณะทางกายภาพ
    พื้นที่รับผิดชอบ     พืชพรรณไม้และสัตว์ป่า
    หน่วยงานภาคสนาม     พื้นที่ป่าทั้งหมด
   ลักษณะทางกายภาพ
 

 

ลักษณะภูมิประเทศ  สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6  รับผิดชอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในท้องที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งมีอาณาเขตอยู่ทางตอนใต้ของแหลมมาลายู มีเทือกเขาบรรทัดผ่านกลางทอดยาวไปจดประเทศมาเลเซีย และเทือกเขาสันกาลาคีรีทอดยาวในแนวตะวันออก - ตะวันตก ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบตามแนวชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันออก     นอกนั้นเป็นเทือกเขาสูงและเป็นเนินเขากระจัดกระจายอยู่ทั่วไป มีแม่น้ำลำคลองที่สำคัญหลายสายไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย 

สภาพภูมิอากาศ มีลักษณะคล้ายคลึงกับสภาพทั่วไปของภาคใต้ ซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ   และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีฤดู 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน โดยฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แล้วต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนธันวาคม รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้นนานประมาณ 8 เดือน หลังจากนั้นจึงเป็นฤดูร้อน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีประมาณ 2,000 มิลลิเมตร

ลักษณะกายภาพของดิน    ชนิดดิน ดินส่วนใหญ่แถบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกเป็นดินเหนียวซึ่งเป็นเลนในบริเวณที่น้ำท่วมถึง มีหาดทรายเป็นส่วนน้อย ส่วนแถบชายฝั่งด้านตะวันออก  ส่วนใหญ่เป็นดินทราย ลึกเข้าไปตามแถบชายฝั่งทะเลสาบสงขลาเป็นดินเหนียว  ซึ่งเป็นหล่มลึก  โดยเฉพาะริมฝั่งทะเลสาบตอนบน ในท้องที่จังหวัดพัทลุงเป็นหล่มลึก มีน้ำขังเกือบตลอดปี ส่วนในพื้นที่อื่นๆ เป็นดินร่วนปนทรายมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง

 

   พืชพรรณไม้และสัตว์ป่า
                        

พืชพรรณ   ประกอบด้วยสภาพป่าที่สำคัญ 4  ชนิด  คือ

1. ป่าดงดิบชื้น  (Moist Evergreen Forest)

                    เป็นชนิดป่าที่พบเป็นส่วนมากในแถบนี้โดยเฉพาะบริเวณที่ห่างจากทะเล เช่น พื้นที่ป่าบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง อุทยานแห่งชาติสันกาลาคีรี อุทยานแห่งชาติบางลาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา เป็นต้น ป่าบริเวณนี้จะมีความชุ่มชื้นสูง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีบริเวณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 2,000 มิลลิเมตร  ลักษณะโดยทั่วไปของป่าชนิดนี้จะเป็นป่ารกทึบดูเขียวชอุ่มตลอดปี ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลากหลายเป็นจำนวนมากขึ้นปะปนกันมีทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก   ป่าชนิดนี้มีความหนาแน่นของจำนวนต้นและจำนวนชนิดไม้สูง มีไม้ที่สำคัญและมีค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิด และบางชนิดก็เริ่มเป็นไม้ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ไม้เด่นมีลำต้นสูงใหญ่ในช่วง 30-50 เมตร ส่วนมากเป็นไม้ในวงศ์ยาง  (Dipterocarpaceae)  เช่น  ยางใต้  (Dipterocarpus hasseltii Blume)  ยางมันหมู  (DipterocarpusKerrii)  พะยอม (Shoreoroxburghii G.Don) ตะเคียนทราย (Hopea sangal Korth) ไข่เขียว (Parashorea stellata Kurz) กระบากทอง (Anisoptera curtisii) บุญนาค (Hopea ferrea) บางชนิดมีลำต้นเป็นพูพอนใหญ่บ้างเล็กบ้าง เช่น สมพง (Tetrameles nudiflora) ท้ายเภา (Scaphium scaphigerum) สมอดีงู (Terminalia citrina) ปออีเก้ง (Pterospermum javanicum)        และตองจิง (Pterygota alata)     ไม้ที่มีเรือนยอดแผ่กว้างได้แก่พวก ตีนเป็ด (Alstonia scholaris) สุเหรียน (Toona febrifuga) ประยงค์ป่า (Aglaia odoratissima) เทพทาโร (Cinnamomum parthenoxylum) ขนุนนก (Palaquium obovatum) พระเจ้าห้าพระองค์ (Dracontomelum mangiferum) เอียน (Neolitsea zeylanica) และอีโปง (Pajanelia multijuga) เป็นต้น ไม้ชั้นรองลงมาประกอบด้วยพวกมะหาด (Artocarpus lakoocha) มะกอก (A.elastica) จิกดง (Barringtonia pauciflora) ชมพู่ป่า (Eugenia siamensis)    แดงกล้วย (E. polyaltha) กระเบา (Hydnocarpus sumatrana) กระเบากลัก (H. illicifolius) ค้างคาว (Aglaia pirifera) และไม้ชนิดอื่น ๆ อีกมากมายหลายชนิดเป็นต้น ปาล์มที่พบในชั้นนี้ ได้แก่พวกเต่าร้าง (Caryota mitis) พน (Orania sylvicola) หลาวชะโอน (Oncosperma horrida)  ชิด , หลังกับ (Arenga spp.) พ้อ (Licualas spp.)  และหมากงาช้าง (Pinanga spp.)

                    ชั้นล่างลงมาและพืชคลุมดิน ประกอบด้วยไม้เถาที่ขึ้นเกาะเกี่ยวกันจนรกทึบ ได้แก่ พวกการเวก (Artabotrys siamensis) ตะเข็บ (Pothos scandens) สะบ้า (Entada sp.) เมื่อย (Gnetum  sp.) หนามเกี่ยวชู้  (Uncaria sp.) เถาเลี้ยวป่า (Bauhinia sp.) สะแกเถา (Combretum sp.) เถาวัลย์ (Tetrastigma sp.) และหวายชนิดต่าง ๆ เช่น หวายกำพวน (Calamus longisetus) หวายขริง              (C. Palustris) หวายงวย (C.perigrinus) หวายน้ำ (Daemonorops angustifolia) หวายกำพด (Plectocomia macrostachya) เป็นต้น ไม้พื้นล่างปกคลุมด้วยไม้พุ่มเล็ก เช่น ตาเป็ดตาไก่ (Ardisia sp.) เข็มป่า (Ixora sp.) และอื่น ๆ  ไม้ล้มลุกที่พบได้แก่ พวกพลับพลึง (Crinum sp.) บอนพวก Alocacia และ Aglaeonema พร้าวนกคุ่ม (Curculigo) เฟินพวกเฟินต้น (Cyathea spp.) ข้าหลวง หลังลาย (Asplenium nidus) เฟินแผง (Selaginella spp.)  ตลอดจนพวกขิงข่า เช่น (Zingiber spp.) กระวาน (Amomum spp.) เปราะ (Kaempferia spp.) เป็นต้น

2. ป่าชายเลน  (Mangrove Forest)

                พบบริเวณที่มีน้ำทะเลท่วมถึง เช่น บริเวณริมทะเลสาบสงขลาตอนล่าง บริเวณอำเภอจะนะ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และบริเวณอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ลักษณะโดยทั่วไปของป่าชนิดนี้จะมีพืชพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่น้อยชนิด ขึ้นเป็นกลุ่มในดินเลน มีลักษณะพิเศษ คือ ใบหนา  ต้นไม้ปรับสภาพตัวเองทำให้เกิดรากพิเศษ คือ รากค้ำยัน (Stilt roots) และรากหายใจ (Pneumatophorores)  เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ชนิดพันธุ์ไม้ที่พบ  เช่น โกงกางใบใหญ่ (Rhizophora mucronata) โกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata)  แสมทะเล (Avicennia marina) ฝาดดอกขาว (Lumnitzera racemosa) สมอทะเล (Sapium indicum)  จาก (Nypa fruticans)  พวกเหงือกปลาหมอ (Acanthus ebracteatus) ปรงทะเล (Aerostichum aureum) และเป้งทะเล (Phoenix paludosa) เป็นต้น

3. ป่าพรุ (Peat Swamp Forest)

                    เป็นสังคมพืชป่าดงดิบชนิดพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะตัว เกิดในที่ลุ่มน้ำขัง ประกอบด้วยซากพืช และอินทรีย์วัตถุ กองรวมอยู่บนผิวดิน พืชพรรณในป่าพรุส่วนใหญ่มีการวิวัฒนาการในส่วนอวัยวะให้มีโครงสร้างพิเศษเพื่อดำรงชีพอยู่ได้ในสภาพสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ เช่นโคนต้นมีพูพอน ระบบรากแก้วสั้นแต่มีรากแขนงแข็งแรง มีระบบรากแบบพิเศษ เช่น รากค้ำยัน รากหายใจโผล่ขึ้นเหนือชั้นอินทรีย์วัตถุ ป่าพรุที่มีสังคมพืชดั้งเดิม ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแห่งเดียว คือ ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส  สำหรับป่าพรุในท้องที่จังหวัดสงขลา และพัทลุง จะเป็นป่าพรุที่มีไม้เสม็ดขาวเป็นไม้เด่น

             ป่าพรุโต๊ะแดงมีลักษณะคล้ายป่าดิบชื้น ประกอบด้วยพืชหลายหลากชนิด ตั้งแต่พืชขนาดเล็ก เช่น เห็ด รา สาหร่าย ไปจนถึงไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม้ยืนต้นมีเรือนยอดเขียวชอุ่มตลอดปี มีระดับสูงต่ำลดหลั่นเป็นชั้น ๆ  ชั้นบนสุดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงตั้งแต่ 25 เมตรขึ้นไป  เช่น ตีนเป็ดพรุ (Alstonia pneumatophora) ตังหน (Calophyllum teysmanii var inophylloide) ตังหนใบเล็ก   (C. pisiferum) ขี้หนอนพรุ (Campnosperma coriaceum) โงงงัง (Cratoxylum arborescens) ช้างไห้ (Neesia altissima) กราตา (Parishia insignis) สะเตียว (Ganua motleyana) สะท้อนพรุ (Sandoricum emaginatum)  และทองบึ้ง (Koompassia malaccensis) เป็นต้น ไม้ชั้นรองลงมาที่มีขนาดสูง 15-25 เมตร เช่น จันทน์ป่า (Myristica elliptica) คอแลน (Baccauria bracteata) ยากา (Blumeodendron kurzii) เสม็ดแดง (Eugenia spicata) แตยอ (Cinnamommum rhychaphyllum) หลาวชะโอน (Oncosperma tigillaria) และร๊อก (Livistona saribus) เป็นต้น

             ไม้ชั้นล่างประกอบด้วยไม้ยืนต้นขนาดเล็กและไม้พุ่มที่มีความสูงไม่เกิน 15 เมตร ส่วนใหญ่จะเป็นพวกปาล์มชนิดต่าง ๆ เช่น หมากแดง (Cyrtostachys renda) หมากเขียว (Areca trinandra) หมากงาช้าง (Nengapumila) และเต่าร้าง (Caryota mitis) ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และจะพบปาล์มอีก 2 ชนิด คือ หลุมพี (Eleodoxa  conferta) กับขวนหรือกะพ้อแดง (Licuala longecalycata) ขึ้นอยู่หนาแน่น และปาล์มทั้ง 2 ชนิดนี้และหมากแดง จะเป็นพันธุ์ไม้บ่งชี้ชนิดของป่าเป็นอย่างดี เพราะมีการกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะในป่าพรุเท่านั้น

             ไม้เถาเลื้อยมีไม่มากชนิด แต่ละชนิดจะขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ เช่น อากาไก้ (Artabotrys suaveolens) แรดหนุนหิน (Reissantia indica) พวงมรกต (Dapania racemosa) เตยย่าน (Freycinetia angustifolia) และหวายชนิดต่าง ๆ เช่น หวายตะค้าทอง (Calamus caesius) หวายน้ำ (Daemonorops angustifolia) และ หวายสะเดา (Korthalsia laciniosa) เป็นต้น ไม้พื้นล่างที่พบได้แก่พวกเตย  บอนหลายชนิด และเฟินชนิดต่าง ๆ

             ไม้มะฮัง (Macaranga pruinosa) และเสม็ด (Melaleuca cajuputi) เป็นพืชเบิกนำของป่าพรุรอบนอกที่ถูกทำลายขึ้นปะปนกับพวกกกชนิดต่าง ๆ

4. ป่าชายหาด (Beach Forest)

                 พบบริเวณริมชายหาดติดอ่าวไทย บางบริเวณเป็นป่าสนทะเลล้วน เช่น บริเวณอำเภอเมืองสงขลา และบริเวณอำเภอจะนะ บางพื้นที่มีความหลากหลายของพรรณไม้มาก  เช่น  บริเวณชายทะเลบ้านตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา บริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดปัตตานี และนราธิวาส  ชนิดพันธุ์ไม้ที่พบ เช่น สนทะเล (Casuarina equisetifolia) หูกวาง (Terminalia catappa) สารภีทะเล (Calophyllum inophyllum) จิกทะเล (Barringtonia asiatica) เมา (Eugenia grandis)  ปอทะเล (Hibiscus tiliaceus) นอกจากนี้ยังมีพวกไม้พุ่ม  เช่น คนทีสอ (Vitex trifolia) เตยทะเล (Pandanus odoratissimus) พลึงทะเล (Crinum asiaticum) พวกไม้เลื้อย เช่น ผักบุ้งทะเล  (Ipomoea pes-caprae) สำมะงา (Clerodendrum inerme) เมื่อย (Gnetum spp.) เสี้ยวเถา (Bauhimia spp.)  เป็นต้น  

สัตว์ป่า

               จากสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายากหลายชนิด ซึ่งจำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น ปลาพะยูน เสือโคร่ง สมเสร็จ เลียงผา และค่างแว่นถิ่นใต้
นก เช่น นกเงือกหัวหงอก  นกแต้วแล้วท้องดำ นกปรอดทอง นกปรอดเหลืองหัวจุก
นกกาบบัว  นกตะกรุม  นกกระทุง  นกกระสานวล   นกกระสาแดง  นกยาง  เป็ดแดง  เป็ดคับแค     นกกาลน้ำเล็ก เป็นต้น
สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งูเหลือม งูจงอาง งูกะปะ งูเห่า
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น กบทูด และจงโคร่ง
ปลา เนื่องจากมีทะเลขนาบพื้นที่ทั้ง 2 ด้าน และมีทะเลสาบขนาดใหญ่ทำให้เป็นแหล่งอาศัยของปลาหลากชนิด เช่น ปลาช่อน  ปลาปักเป้าน้ำจืด  ปลาดุกรำพัน  ปลาเสือพ่นน้ำ  เป็นต้น

   พื้นที่ป่าทั้งหมด

 

      พื้นที่ป่าในปี พ.ศ. 2547 ตามรายงานของกรมป่าไม้ (2547)  ในท้องที่รับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,619,812.50 ไร่ หรือคิดเป็น 4,191.70 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น  19.27  เปอร์เซ็นต์  ของพื้นที่จังหวัดทั้ง   5   จังหวัด     ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ป่าชายเลน       175,500  ไร่  หรือคิดเป็น  6.7  เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าทั้งหมด

จังหวัด

เนื้อที่ป่าคงเหลือ

ปี 2538

ปี2541

ปี 2543

ปี 2547

เนื้อที่  (ไร่)

ร้อยละ

เนื้อที่  (ไร่)

ร้อยละ

เนื้อที่ (ไร่)

ร้อยละ

เนื้อที่ (ไร่)

ร้อยละ

สงขลา

363,361

7.86

357,423

7.74

513,687.50

11.38

536,562.50

11.60

พัทลุง

293,125

13.70

273,750

12.79

342,687.50

16.68

384,437.50

 18.00

ปัตตานี

28,125

2.32

27,500

2.27

44,687.50

3.65

  50,125

4.10

ยะลา

714,375

25.28

696,875

24.66

868,687.50

31.00

940,062.50

33.30

นราธิวาส

440,625

15.75

428,125

15.31

648,187.50

23.11

708,625

25.30

รวม

1,839,611

13.53

1,783,673

13.12

2,417,937.50

17.78

2,619,812.50

19.27