นกเงือก..ความงามแห่งป่าฮาลา-บาลา

สุเนตร การพันธ์
:: นกเงือกผู้บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่า

:: ป่าฮาลา-บาลา..บ้านของนกเงือก

:: รังในโพรงบนต้นไม้ใหญ่

:: นกเงือกแห่งป่าฮาลา-บาลา

:: ป่าฮาลา-บาลา..บ้านของนกเงือก ::         

ผืนป่าฮาลา-บาลา เป็นผืนป่าที่ยังคงมีความสมบูรณ์ของป่า คงความบริสุทธิ์ เป็นอาณาจักรพงไพรที่คุ้มภัยให้แก่สัตว์ป่าทั้งน้อยใหญ่มากกว่า 600 ชนิด รวมทั้งยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่รอการสำรวจค้นพบใหม่ ดังเช่น รายงานการค้นพบ ชะนีดำใหญ่ หรือเซียงมัง (Hylobates syndactylus) ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบเฉพาะในป่าแห่งนี้ นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของกระซู่ ( Dicerorhinus sumatrensis) สัตว์ที่เคยคาดว่าได้สูญพันธุ์ไปจากป่าแห่งนี้ไปแล้ว ที่ยังพบร่องรอยอยู่ในป่าพื้นที่รอยต่อชายแดนไทยและมาเลเซีย
เทือกเขาสันกาลาคีรีเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำน้อยใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชุมชนในภาคใต้ตอนล่าง  เช่น  แม่น้ำบางนรา  แม่น้ำสายบุรี  แม่น้ำปัตตานี  แม่น้ำเทพา  คลองฮาลา  คลองโต๊ะโม๊ะ เป็นต้น  ด้วยตำแหน่งที่ตั้ง  และมีปริมาณน้ำฝนที่ตกเกือบตลอดทั้งปี  โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 2,560 มิลลิเมตร และอุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส  ทำให้ป่าแห่งนี้ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นที่มีลักษณะพิเศษ  โดยพรรณไม้เกือบทั้งหมดจัดเป็นเขตพืชพรรณของมาเลเซีย  ซึ่งจะไม่พบในป่าแห่งอื่นของประเทศไทย  โครงสร้างป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์แบบ ประกอบด้วยเรือนยอดหลายชั้นซ้อนทับกัน  มีไม้เด่นเป็นไม้ในวงศ์ยาง (Dipterocarpaceae)  เช่น ต้นสยา ( Shorea spp.) ซึ่งต้นไม้ใหญ่ เป็นที่อาศัยทำรังที่สำคัญของเหล่านกเงือกหลากหลายชนิด  บางชนิดไม่พบอีกแล้วในผืนป่าแห่งอื่น

กลุ่มป่าฮาลา บาลา เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นเทือกเขากั้นพรมแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย  โดยกินอาณาเขตบางส่วนของจังหวัดสงขลา  ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส  ประกอบด้วย  อุทยานแห่งชาติ 6 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง อุทยานแห่งชาติสันกาลาคีรี อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว อุทยานแห่งชาติบูโด – สุไหงปาดี อุทยานแห่งชาติบางลาง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา บาลา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ รวมอาณาเขตทั้งสิ้น 1,156,788 ไร่
จากการสำรวจนกเงือกของ ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ และคณะ ในพื้นที่กลุ่มป่าฮาลา-บาลา พบนกเงือก 7 ชนิด จากทั้งหมด 13 ชนิด ที่มีการสำรวจพบในเมืองไทย ได้แก่ นกเงือกหัวแรด นกเงือกปากดำ นกชนหิน นกเงือกกรามช้าง นกกก นกเงือกหัวหงอก และนกเงือกปากย่น


>> นกเงือกแห่งป่าฮาลา-บาลา