นกเงือก..ความงามแห่งป่าฮาลา-บาลา

สุเนตร การพันธ์
:: นกเงือกผู้บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่า

:: ป่าฮาลา-บาลา..บ้านของนกเงือก

:: รังในโพรงบนต้นไม้ใหญ่

:: นกเงือกแห่งป่าฮาลา-บาลา

:: นกเงือกแห่งป่าฮาลา-บาลา ::         

นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill)
Buceros  rhinoceros Linnaeus, 1758.



ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดใหญ่ ลำตัวส่วนใหญ่เป็นสีดำ ปีกสีดำ ท้องสีขาว หางสีขาวคาดแถบสีดำ ตาสีแดง ปากสีงาช้างจนถึงสีเหลือง โหนกแข็งมีขนาดใหญ่ ส่วนท้ายสีออกแดง ส่วนหน้าสีออกเหลืองและงอนขึ้นคล้ายนอแรดหรือเขาสัตว์ ตัวเมียบริเวณวงรอบเบ้าตาและตามีสีจางกว่าตั้วผู้

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าดงดิบชื้นตั่งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล พบอยู่โดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือเป็นฝูงเล็กๆ มันมักเกาะตามยอดไม้สูง แต่บางครั้งก็เกาะตามกิ่งไม้ใต้เรือนยอด มีอุปนิสัยไม่แตกต่างจากนกเงือกในวงศ์เดียวกัน นกเงือกหัวแรดกินผลไม้และสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร

การผสมพันธุ์
นกเงือกหัวแรดผสมพันธุ์ในช่วงปลายฤดูหนาวจนถึงต้นฤดูฝน ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม มันทำรังตามโพรงต้นไม้ที่เกิดตามธรรมชาติ หรือโพรงที่นกหรือสัตว์อื่นทำไว้ นกเงือกหัวแรดมีชีววิทยาการสืบพันธุ์ไม่แตกต่างจากนกกกซึ่งเป็นนกในสกุลเดียวกัน นกเงือกหัวแรดเป็นนกประจำถิ่นหายากและปริมาณน้อย พบเฉพาะทางภาคใต้ตอนใต้ตั้งแต่จังหวัดสงขลาลงไป

 

นกเงือกหัวแรดเพศเมีย
นกเงือกหัวแรดเพศผู้

นกเงือกปากดำ (Bushy-crested  Hornbill)
Anorrhinus galeritus (Temminck)



ลักษณะทั่วไป เป็นนกขนาดใหญ่ (87-89) ตัวเต็มวัยตัวผู้ลำตัวสีดำ หัวมีหงอนขนสีดำ ปากสีดำประมาณสองในสามของหางเป็นสีเทาแกมน้ำตาล ปลายหางสีดำ ตัวเมียต่างจากตัวผู้ตรงที่โหนกแข็งเล็กกว่าของตัวผู้ ผิวหนังบริเวณคอหอยสีน้ำเงิน วงรอบเบ้าตาสีน้ำเงินหรือขาว บางตัวปากเป็นสีงาช้าง ตัวไม่เต็มวัยลำตัวมีลายแต้มสีน้ำตาล ท้องสีขาว ทั่วโลกมีนกเงือกปากดำ 3 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อยคือ Anorrhinus  galeritus  carinatus (Blyth) พบเฉพาะทางภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชจนถึงใต้สุดของประเทศ

อุปนิสัยและอาหาร อาศัยอยู่ตามป่าดงดิบชื้น ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั้งความสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์พบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ นกเงือกปากดำร้องเสียงแหลมและดังไปไกล อาหาร ได้แก่ ผลไม้ โดยเฉพาะลูกไทร ลูกหว้า และลูกตาเสือ นอกจากนี้มันยังกินสัตว์ขนาดเล็กที่อยู่ตามพื้นดิน เช่น หนู กิ้งก่า ปู เป็นต้น

การผสมพันธุ์ นกเงือกปากดำผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม มันทำรังตามโพรงต้นไม้ ชีววิทยาการสืบพันธุ์อื่นไม่แตกต่างจากนกเงือกสีน้ำตาล ยกเว้นไข่ของนกเงือกปากดำมีขนาดใหญ่กว่า นกเงือกปากดำมีพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่คล้ายคลึงกับนกเงือกสีน้ำตาล คือในช่วงที่ตัวเมียและลูกนกยังอยู่ในโพรง จะมีนกเงือกปากดำอย่างน้อย 3 ตัว และอาจมากถึง 5 ตัว ช่วยพ่อนกหาอาหารมาป้อนเกือบตลอดทั้งวัน แต่ที่แตกต่างจากนกเงือกสีน้ำตาลคือตัวที่มาช่วยมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับชีววิทยาการสืบพันธุ์แบบนี้ชัดเจนนัก ตัวที่มาช่วยอาจเป็นนกในครอบครัวเดียวกันที่เกิดเมื่อ 1-2 ปีก่อนหรืออาจเป็นตัวผู้หรือตัวเมียอื่นที่ยังไม่ได้ผสมพันธุ์ในฤดูผสมพันธุ์นั้น

.

 


นกชนหิน (Helmeted Hornbill)
Buceros  vigil (Forster) 1781.

ลักษณะทั่วไป เป็นนกขนาดใหญ่มาก ประมาณ 125-127 ซม. รวมขนหางยาว 50-70 ซม. ขนหางคู่กลางยาวที่สุด สำตัวส่วนใหญ่เป็นสีน้ำตาลเข้มท้องสีขาว หางสีขาวคาดแถบสีดำ ขอบปีกสีขาว ปากสีเหลือง โคนปากและโหนกแข็งสีแดงเข้ม ส่วนหน้าของโหนกแข็งสีเหลือง คอเป็นหนังสีแดงไม่มีขนโหนกแข็งของนกชนหินแตกต่างจากนกเงือกชนิดอื่นตรงที่ส่วนหน้าของโหนกแข็งตัน ใช้แกะสลักเป็นเครื่องประดับได้ ส่วนโหนกแข็งของนกเงือกชนิดอื่นจะกลวง นกชนหินตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ ลักษณะอื่นเหมือนกับตัวผู้ ประเทศไทยพบเฉพาะทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป

อุปนิสัยและอาหาร อาศัยอยู่ตามป่าดงดิบชื้น ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั้งความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ มันมักเกาะตามกิ่งไม้ที่อยู่ระดับสูง และค่อนข้างตื่นคน อุปนิสัย ชนิดอาหารและพฤติกรรมการกินอาหารไม่แตกต่างจากนกเงือกชนิดอื่น

การผสมพันธุ์ นกชนหินผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคมมันทำรังตามโพรงต้นไม้ที่เกิดตามธรรมชาติ หรือโพรงที่สัตว์อื่นทำไว้ โพรงมักอยู่สูงจากพื้นดินไม่ต่ำกว่า 15 เมตร รังมีไข่ 1 ฟอง หายากที่มี 2 ฟอง นกชนหินมีชีววิทยาการสืบพันธุ์ไม่แตกต่างไปจากนกกก

 

นกเงือกกรามช้าง (Wreathed  Hornbill)
Aceros  undulates (Shaw) 1811.
ชื่ออื่น นกกู๋กี๋



ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดใหญ่ (100 ซม.) หางสีขาว ถุงใต้คางมีแถบสีดำ ปากสีงาช้าง โคนปากมีรอยหยักเป็นบั้งๆ ทั่วโลกมีนกเงือกกรามช้าง 2 ชนิดย่อยคือ Aceros  undulatus  undulatus (Shaw) และ Aceros  undulatus  ticehursti Deignan  ชนิดย่อย ticehursti ตัวผู้บริเวณกระหม่อมสีขาว หงอนขนสีน้ำตาลเข้ม วงรอบเบ้าตาสีแดง หน้าผาก ใบหน้า และคอมีสีขาว ถุงใต้คางสีเหลือง โหนกแข็งมีรอยบั้งชัดเจนกว่าของตัวเมีย ตัวเมียมีวงรอบเบ้าตาสีทึมไม่ฉูดฉาด หน้าผาก กระหม่อม หงอนขน ใบหน้า และคอสีดำ โหนกแข็งเล็ก ถุงใต้คางสีฟ้า ตัวไม่เต็มวัยเห็นรอยบั้งที่โคนปากไม่ชัดเจน โหนกแข็งเล็กกว่าตัวเต็มวัย พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตก ชนิดย่อย undulatus ทางด้านล่างถุงใต้คางมีสีฟ้า ตัวเมียไม่แตกต่างจากชนิดย่อย ticehursti  พบทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป

อุปนิสัยและอาหาร อาศัยอยู่ตามป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบเขา และป่าชายเลน ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่เป็นฝูงเล็กๆ ในบริเวณที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์อาจพบเป็นจำนวน ส่วนใหญ่จะพบมันเกาะตามยอดไม้
นกเงือกกรามช้างกินผลไม้ โดยเฉพาะไทร หว้า ตาเสือ และยางโอน โดยใช้ปลายปากงับและปลิดผลออกจากขั้ว จากนั้นมันจะโยนผลขึ้นไปในอากาศ แล้วอ้าปากรับและกลืนลงคอทั้งผล บางครั้งมันก็ลงมาบนพื้นดินเพื่อไล่จิกกินกิ่งก่าและสัตว์ขนาดเล็ก

 

การผสมพันธุ์ นกเงือกกรามช้างผสมพันธุ์ในช่วงปลายฤดูหนาวต่อฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม มันทำรังตามโพรงต้นไม้ที่เกิดตามธรรมชาติหรือที่สัตว์อื่นทำไว้ โพรงอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 25-30 เมตร ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันเลือกโพรงไม้ มักใช้โพรงเดิมทำรังเป็นประจำทุกปี ยกเว้นโพรงเดิมถูกทำลาย หรือมีสัตว์อื่นแย่งเข้าไปทำรังก่อน ไข่ของนกเงือกกรามช้างมีรูปร่างรี สีขาว ผิวค่อนข้างหยาบ รังมีไข่ 2 ฟอง หายากที่มี 3 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 31 วัน ขณะที่ตัวเมียและลูกนกอยู่ในโพรง ตัวผู้จะหาอาหารมาป้อน หลังจากที่ไข่ฟักเป็นตัวแล้ว ลูกนกจะอยู่ในโพรงอีก 8-12 สัปดาห์ จากนั้นตัวผู้จะเจาะปากโพรงให้ตัวเมียและลูกนกออกมาจากโพรง ในช่วงนี้ตัวผู้จะยังคงหาอาหารมาป้อนตัวเมียและลูกนก จนกระทั้งลูกนกแข็งแรง บินได้ดี และหาอาหารเองได้ จากนั้นพวกมันจะทิ้งรังไปรวมฝูงกับนกครอบครัวอื่น

นกกก Great Hornbill
Buceros  bicornis Linnaeus, 1758

 ลักษณะทั่วไป นกกกเป็นนกขนาดใหญ่มาก ใบหน้ามีสีดำ คอสีขาว ลำตัวด้านบนสีดำ อกสีดำ คอและท้องสีขาว ปากและโหนกแข็งสีเหลือง โหนกแข็งมีขนาดใหญ่ ด้านบนแบนหรือนูนเล็กน้อย ส่วนท้ายเว้า ส่วนหน้าแตกออกเป็นสองกิ่งกว้างสีเหลืองกลางปีก ขอบปลายปีกสีขาว หางสีขาวคาดแถบสีดำ ตัวผู้แตกต่างจากตัวเมียตรงที่มีขนาดใหญ่กว่า โหนกแข็งมีสีดำที่ส่วนหน้า ตาสีแดง ส่วนตัวเมียโหนกแข็งไม่มีสีดำ ตาสีขาว ทั่วโลกมีนกกก 2 ชนิดย่อยคือ Buceros bicornis bicornis Linnaeus และ Buceros  bicounis  homrai  Hodgson ประเทศไทยพบทั้ง 2 ชนิดย่อย โดยชนิดย่อย homrai พบตั้งแต่ภาคใต้บริเวณเหนือคอคอดกระขึ้นมา ส่วนชนิดย่อย bicornis พบเฉพาะทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ในระดับสูงไม่เกิน 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ปกติจะพบมันเกาะตามกิ่งไม้โดยเฉพาะต้นไม้ผลในป่า แต่บ่อยครั้งก็พบมันกระโดดเก็บกินผลไม้หล่นตามพื้นดิน มักพบอยู่เป็นคู่ หรือเป็นฝูงเล็กๆ ประมาณ 3-5 ตัว แต่อาจพบเป็นฝูงใหญ่กว่า 30 ตัว ในบริเวณต้นไม้ที่มีผลสุกชนิดที่มันชอบ มันจะมาที่ต้นนั้นทุกวันจนผลไม้หมด จึงไปหาต้นอื่น
นกกกเวลาบินจะเกิดเสียงดังมาก ได้ยินไปไกลเมื่อใกล้ถึงสถานที่ที่มันจะเกาะ บางครั้งก็ใช้วิธีการร่อน นกกกมักใช้เส้นทางเดิมบินไปหาอาหารและกลับแหล่งที่อยู่อาศัยเกือบทุกวัน มันบินเป็นฝูง ยกเว้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์ที่จะพบบินโดดเดี่ยว ในเวลากลางคืนมันจะเกาะนอนหลับบนเรือนยอดของต้นไม้ขนาดใหญ่ และมักเกาะรวมกันหลายตัว นกกกร้อง “กา-ฮัง กา-ฮัง” คล้ายเสียงเห่าของสุนัข บางครั้งก็ร้อง “โตก-โต๊ก” หรือ “กก-กก” ซ้ำๆ กัน แต่เว้นช่วงพอประมาณ ขณะร้องคอเหยีนดตรง ปากชี้ขึ้น ในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะได้ยินเสียงร้องมากกว่าฤดูอื่น
อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ ผลไม้ โดยเฉพาะไทร หว้า ตาเสือใหญ่ ตาเสือเล็ก ยางโอน ปอ และส้านเล็ก มันกินอาหารด้วยการใช้ปลายปากปลิดผลไม้ออกจากกิ่งโยนผลไม้ขึ้นไปในอากาศ แล้วอ้าปากรับผลไม้ กลืนกินทั้งผลลงคอ หรือมันอาจคาบผลไม้ไว้ เงยหน้าขึ้นแล้วอ้าปากให้ผลไม้หล่นลงลำคอ นอกจากนี้มันยังจับงู กิ้งก่า หนู และลูกนกตามโพรงไม้หรือโพรงดินกินด้วย


การผสมพันธุ์
นกกกผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคมในช่วงนี้จะพบอยู่เป็นคู่ แต่บางตัวก็พบอยู่โดดเดี่ยว มันทำรังตามโพรงต้นไม้ที่เกิดตามธรรมชาติหรือโพรงที่สัตว์อื่นทำทิ้งไว้ โพรงมักอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 18-25 เมตร มันใช้โพรงเดิมเป็นประจำทุกปี ไข่ของนกกกสีขาวหรือสีขาวปนครีม ผิวค่อนข้างหยาบ รังมีไข่ 1 ฟอง บางรังมี 2 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 31 วัน ในช่วงที่ตัวเมียฟักไข่ ตัวผู้จะคอยหาอาหารมาป้อนเมื่อไข่ฟักเป็นตัวแล้ว ตัวผู้จะต้องหาอาหารมาป้อนทั้งตัวเมียและลูก เมื่อลูกนกมีขนปกคลุมลำตัวและแข็งแรงพอประมาณแล้ว ตัวผู้จะเปิดปากโพรงให้ตัวเมียออกมา รวมเวลาที่ตัวเมียอยู่ในโพรงประมาณ 80-90 วัน เมื่อตัวเมียออกจากโพรงแล้ว ลูกนกจะปิดปากโพรงตัวผู้อาจช่วยปิดปากโพรงด้านนอกด้วย ในช่วงนี้ตัวเมียจะช่วยตัวผู้หาอาหารมาป้อนลูกนกด้วย ในช่วงนี้ตัวเมียจะช่วยตัวผู้หาอาหารมาป้อนลูกนกด้วย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แตกต่างจากนกเงือกชนิดอื่น ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะหาอาหารมาป้อนลูกต่อไปอีกประมาณ 3-4 สัปดาห์ ลูกนกจึงจะแข็งแรง พ่อแม่นกจะช่วยกันเปิดปากโพรงให้ลูกนกออกมา หลังจากนั้นลูกนกจะเริ่มหัดบินไม่นานนักลูกนกก็บินได้ และทิ้งโพรงไปอยู่รวมฝูง

นกเงือกหัวหงอก (White-crowned  Hornbill)
Aceros comatus (Raffles) 1822
ชื่ออื่น White-crested  Hornbill, Long-crested  Hornbill


ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดใหญ่ (90 ซม.) ตัวเต็มวัยหัวมีหงอนขนสีขาว ปากสีดำ โหนกแข็งมีขนาดเล็ก ลำตัวสีดำ หางยาวสีขาว ขณะกางปีกหรือบินจะเห็นขอบปลายปีกมีแถบสีขาว ตัวผู้บริเวณใบหน้า คอ และลำตัวด้านล่างมีสีขาว ตัวเมียบริเวณคอและลำตัวด้านล่างมีสีดำ ตัวไม่เต็มวัยลักษณะคล้ายตัวเมียแต่ลำตัวด้านล่างมีสีน้ำตาล หางสีดำ ปลายปีกมีแถบกว้างสีขาว ปลายขนคลุมขนปีกสีขาว

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าดงดิบชื้น ตั่งแต่ระดับเชิงเขาจนกระทั่งความสูง 600 เมตรจากระดับน้ำทะเลหรือสูงกว่า ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์จะพบอยู่เป็นฝูงเล็กๆ มันบินเงียบจนเกือบไม่มีเสียงเนืองจากการกระพือปีกค่อนข้างเร็ว ขณะบินนกเงือกหัวหงอกมักร้องเป็นเสียงเบาๆ ดัง “ฮู-ฮู” และจะร้องซ้ำกันประมาณ 10-20 ครั้ง นกเงือกหัวหงอกกินผลไม้ โดยเฉพาะลูกไทร ลูกหว้า และลูกตาเสือ ด้วยการเกาะกิ่งที่มีผลไม้ ใช้ปลายปากปลิดผลจากขั้ว อ้าปากให้ผลหล่นลงคอ หรืออาจโยนผลไม้ขึ้นไปในอากาศพร้อมกับอ้าปากรับ แล้วกลืนกินทั้งผล บางครั้งมันก็ลงพื้นดินเพื่อกินสัตว์ โดยเฉพาะกิ่งก่า หอย และนกขนาดเล็ก

 

นกเงือกหัวหงอกเพศเมีย
นกเงือกหัวหงอกเพศผู้

การผสมพันธุ์ นกเงือกหัวหงอกผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน ระหว่างเดือนกุมภาพันธุ์ถึงเดือนพฤษภาคม ในช่วงนี้มันจะแยกจากฝูงมาอยู่เป็นคู่ มันทำรังตามโพรงต้นไม้ที่เกิดตามธรรมชาติ มักใช้รังหรือโพรงเดิมเป็นประจำทุกปีหากไม่มีสัตว์หรือนกคู่อื่นมาแย่งใช้โพรงก่อน หากมีสัตว์อื่นมาแย่งใช้ มันจะขับไล่สัตว์นั้นออกไป ถ้าไม่สำเร็จมันก็จะต้องหาโพรงใหม่ เมื่อตัวเมียเข้าไปวางไข่และฟักไข่ในโพรงแล้วตัวผู้จะคอยหาอาหารมาป้อนตัวเมีย ปกติวันละประมาณ 3-4 ครั้ง นกเงือกหัวหงอกตื่นตกใจค่อนข้างง่าย หากมีสิ่งรบกวนมาใกล้รัง มันจะไม่มาป้อนอาหารให้ตัวเมีย ลูกนกแรกเกิดไม่มีขนปกคลุมร่างกายและยังต้องอยู่ในโพรงอีกระยะเวลาหนึ่ง ในช่วงนี้ตัวผู้จะต้องทำหน้าที่อย่างหนักในการหาอาหารมาป้อนทั้งตัวเมียและลูกนกโดยอาจต้องมาป้อนวันละไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง เมื่อลูกนกโตพอประมาณและมีขนปกคลุมเต็มตัวแล้ว ตัวผู้จะเปิดปากโพรงให้ตัวเมียและลูกนกออกจากโพรงหลังจากนี้ไม่นานพวกมันจะทิ้งรังไป

นกเงือกปากย่น (Wrinkled  Hornbill)
Aceros  corrugates (Temminck) 1832.


ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดใหญ่ (80-81 ซม.) ประมาณสองในสามของหางค่อนไปทางปลายหางเป็นสีขาว บางตัวมีลายแต้มสีเหลืองเข้มหรือสีน้ำตาลเข้มที่ปลายหาง ตัวผู้ลำตัวสีดำ บริเวณหัวและคอสีขาว กระหม่อมและหงอนขนสีดำ ถุงใต้คางสีขาว ปากสีเหลืองซีด โหนกแข็งสีแดงและเป็นรอยย่น โคนปากสีออกแดง ตัวเมียบริเวณหัวและคอสีดำ ถุงใต้คางสีน้ำเงิน วงรอบเบ้าตาสีฟ้า ปากและโหนกแข็งสีเหลืองซีด โหนกไม่แข็งเป็นรอยย่น ทั่วโลกมีนกเงือกปากย่น 2 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อยคือ Aceros corrugatus corrugates  พบเฉพาะภาคใต้ตอนใต้ ตั้งแต่จังหวัดพังงาลงไป

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าดงดิบชื้น ตั่งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งระดับเชิงเขา พบอยู่เป็นคู่หรือฝูงเล็กๆ มักเกาะตามยอดไม้สูง
นกเงือกปากย่นกินผลไม้ขนาดเล็กด้วยการเกาะตามกิ่งไม้ ใช้ปากปลิดผล แล้วกลืนกินทั้งผล นอกจากนี้มันยังกินแมลงและสัตว์ขนาดเล็กตามพื้นดินอีกด้วย

การผสมพันธุ์
ในประเทศไทยยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับชีววิทยาการสืบพันธุ์ของนกเงือกปากย่น คาดว่าคงไม่แตกต่างจากนกเงือกชนิดอื่น โดยเฉพาะนกเงือกกรามช้างและนกเงือกกรามช้างปากเรียบ ซึ่งเป็นนกในสกุลเดียวกัน

 

นกเงือกปากย่นเพศผู้
นกเงือกปากย่นเพศเมีย

            ในอดีตเคยมีรายงานว่าในพื้นที่ภาคใต้พบนกเงือกถึง 9 ชนิด คือ นกกก นกเงือกกรามช้าง นกเงือกปากดำ นกเงือกดำ นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากย่น นกชนหิน และนกแก๊ก  .......แล้วนกเงือกเหล่านั้นหายไปไหน.......

          เนื่องจากนกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่และมีความสวยงาม ในปัจจุบันกำลังถูกคุกคาม ทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งหากนกเงือกสูญพันธุ์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดอาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย เพราะนกเงือกเป็นผู้รักษาโครงสร้าง และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศวิทยาในป่า ช่วยแพร่กระจายพันธุ์พืชใหญ่หลายสิบชนิด โดยสาเหตุที่ประชากรนกเงือกลดลง คือ ภัยจากมนุษย์ ที่ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย จากกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำไม้ การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำเกษตรกรรม สวนยางพารา และสวนผลไม้ รวมถึงการล่านกเงือกเพื่อเป็นอาหาร เป็นเครื่องประดับ หรือเป็นสัตว์เลี้ยง

...ป้องกันรักษาผืนป่า  ร่วมกันรักษานกเงือก...

>> กลับขึ้นบน

อ้างอิง::
กลุ่มป่าที่สำคัญในประเทศไทย (Forest Complexes in Thailand). http://www.seub.or.th/ 

สถานภาพของประชากรนกเงือกเบื้องต้นในพื้นที่ผืนป่า และหย่อมป่าอื่นๆนอกพื้นที่เป้าหมาย ที่เข้าสำรวจทั้งหมด 11 กลุ่มป่า. รายงานฉบับสมบูรณ์ ลักษณะพันธุกรรม
           ประชากรและสถานภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือกในพื้นที่ผืนป่าและหย่อมป่าในประเทศไทย. 2552

ปัจจัยคุกคามประชากรนกเงือกและถิ่นอาศัย. รายงานฉบับสมบูรณ์ ลักษณะพันธุกรรม ประชากรและสถานภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือกในพื้นที่ผืนป่า
           และหย่อมป่าในประเทศไทย. 2552

ภาพประกอบ ::
สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ-ป่าฮาลาบาลา, นายสัตวแพทย์เกษตร สุชาติ, นายบรรดาศักดิ์ ป้องศรี (ภาพวาด)